Last updated: 2 Feb 2019 |
ทุกวันนี้แทบไม่มีใครไม่ใช้โทรศัพท์มือถือ นอกจากใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารทั่วไป และเป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพแล้ว
แม้แต่เด็กอนุบาลยังต้องขอคุณพ่อคุณแม่ใช้มือถือหรือแท็บเล็ตเพื่อเล่นเกม และผู้เฒ่าวัย 80 ก็ยังต้องหันมาเล่นเฟสเล่นไลน์กับลูกหลานและเพื่อน (ที่ยังมีชีวิตอยู่) เพราะช่วยคลายความเหงาได้เป็นอย่างดี
นอกจากมือถือและแท็บเล็ต นักเรียนนักศึกษา คนทำงานออฟฟิศ และผู้บริหารทั้งหลายก็ยังต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาค้นคว้าหรือทำงาน ซึ่งแต่ละวันก็ใช้เวลาอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ไม่ต่ำกว่าวันละ 6-8 ชั่วโมง
ด้วยเหตุนี้ ผู้คนมากมายในสังคมยุคใหม่จึงต้องทำความรู้จักกับแสงสีฟ้าที่ส่องเข้าตาของเราแทบทั้งวันจากอุปกรณ์มือถือและคอมพิวเตอร์
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแสงสีฟ้า
แสงสีฟ้า หรือ Blue light เป็นแสงที่ผสมอยู่ในช่วงแสงสีขาว (light spectrum) ที่มนุษย์มองเห็น (ซึ่งแบ่งออกเป็น 7 สี ได้แก่ ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง แบบที่อยู่ในรุ้งกินน้ำ) ส่วนแสงที่มนุษย์มองไม่เห็นก็คือแสงจากรังสีอัลตราไวโอเลต ที่ทำให้ผิวสีเข้มขึ้นหรือไหม้ได้
แสงสีฟ้าเป็นคลื่นที่มีความยาวคลื่นสั้น ในช่วง 380-500 นาโนเมตร คลื่นที่สั้นเป็นคลื่นที่มีพลังงานสูง ส่วนคลื่นแสงสีแดงซึ่งเป็นคลื่นที่ยาวมีพลังงานต่ำ แสงสีฟ้าซึ่งมีพลังงานสูงจึงสามารถทะลุทะลวงเข้าไปที่จอประสาทตา (หรือเรตินา) ของเรา และทำลายเซลล์ของจอประสาทตาให้เกิดความเสียหายได้
ขอบคุณภาพจาก: All About Vision, Public Domain: https://www.allaboutvision.com/cvs/blue-light.htm
จากภาพจะเห็นได้ว่า แสงสีฟ้าคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ส่วนของช่วงแสงที่มนุษย์มองเห็น และจัดเป็นแสงที่มีพลังงานสูง (high-energy visible หรือ HEV)
นอกจากนี้ คลื่นแสงสีฟ้าพลังสูงยังเป็นแสงที่มีอัตราการกระจายตัวสูงสุด เมื่อกระทบกับโมเลกุลของอากาศและน้ำในบรรยากาศ
แหล่งใหญ่ที่ปล่อยแสงสีฟ้าคือดวงอาทิตย์ ที่เหลือมาจากแสงไฟส่องสว่างจากหลอดฟลูออเรสเซนต์ หลอด LED อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย รวมถึงทีวีจอแบน จอคอมพิเตอร์ อุปกรณ์มือถือ และแท็บเล็ต
หากเทียบกับแสงอาทิตย์แล้ว แสงสีฟ้าที่มนุษย์สร้างขึ้นถือว่าเป็นส่วนเล็กน้อย แต่เมื่อคำนึงถึงการใช้อุปกรณ์ที่ปล่อยแสงสีฟ้าเป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อวันและยังเป็นการใช้อุปกรณ์ใกล้ตามากแล้วด้วย จักษุแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพตาจึงมีความห่วงกังวลถึงอันตรายและความเสียหายที่แสงสีฟ้าอาจทำกับตาของเราได้
ในขณะที่ตาของมนุษย์มีกลไกในการป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต คือบล็อคไม่ให้รังสีเข้าไปถึงจอประสาทตาที่อยู่ด้านในสุดของลูกตา โดยแม้เราไม่ใส่แว่นตากันแดด รังสีอุลตราไวโอเลตก็เข้าไปถึงจอประสาทตาของเราได้เพียงไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นเท่านั้น (แต่ถึงกระนั้นแว่นตากันแดดก็จำเป็นในการป้องกันส่วนอื่นๆ ของตา โดยหากไม่มีการป้องกัน รังสีอัลตราไวโอเลตอาจทำความเสียหายและก่อให้เกิดโรคตา เช่น ต้อประเภทต่างๆ ได้)
แต่ในกรณีของแสงสีฟ้า ตาของเราไม่มีกลไกป้องกัน ทำให้แสงสีฟ้าทะลุทะลวงเข้าไปถึงที่จอประสาทตา การศึกษาวิจัยยังพบว่า แสงสีฟ้าสามารถทำลายเซลล์รับรู้การเห็นซึ่งไวต่อแสงของจอประสาทตา ทำให้จอประสาทตาเสื่อม ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียการเห็นอย่างถาวรได้
โดยที่แสงสีฟ้ามีการกระจายตัวสูง ตาของเราจึงไม่สามารถโฟกัสแสงที่ออกมาจากจอได้ ทำให้มีอาการตาเมื่อยล้า และ/หรือพร่ามัว ซึ่งฝรั่งเรียกว่า ‘digital eye strain’ หรือ ‘computer vision syndrome’ หรือโรค CVS ดังนั้น การใช้แว่นตาที่ตัดหรือกรองแสงสีฟ้า โดยเฉพาะคลื่นที่สั้นกว่า 450 นาโนเมตร จะช่วยตัดการกระจายแสง ตาสามารถโฟกัสได้ดีขึ้น และทำให้รู้สึกสบายตาขึ้น
ทั้งนี้ แว่นตาตัดแสงสีฟ้า หรือแว่นตากรองแสงสีฟ้า ที่ฝรั่งเรียกว่า blue light filter glasses / blue light blocking glasses เลนส์ของแว่นจะมีสีเหลืองเล็กน้อยและสะท้อนแสงสีม่วงออกมาเมื่อมองดูที่แว่น (ดูรูปด้านบนของบทความ)
โดยสรุป แม้ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับว่าแสงสีฟ้าจากธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้นมากเท่าไหร่จึงจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ดวงตา แต่หากเราตระหนักว่า เราจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์มือถือหรือคอมพิวเตอร์วันละหลายชั่วโมง มันจะดีกว่าไหมหากมีการป้องกันไว้ก่อนด้วยการใช้แว่นตัดหรือกรองแสงสีฟ้า เพื่อลดหรือหยุดไม่ให้แสงสีฟ้าสร้างความเสียหายให้แก่จอประสาทตาของเราในระยะยาว
ป้องกันให้เร็วเท่าไหร่ น่าจะยิ่งดีที่สุด เพื่อดวงตาของเราที่เรารักค่ะ ☺
รายการอ้างอิง
Heiting, G. Blue Light: It's Both Bad And Good For You. Retrieved from https://www.allaboutvision.com/cvs/blue-light.htm
Should you add a blue light filter to your glasses? Retrieved from https://www.smh.com.au/lifestyle/health-and-wellness/should-you-add-a-blue-light-filter-to-your-glasses-20190128-p50u2k.html
What is the meaning of shorter and longer wavelength? Retrieved from https://www.quora.com/What-is-the-meaning-of-shorter-and-longer-wavelength
ศ.พญ. สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต. แว่นตัดแสงสีฟ้าจำเป็นแค่ไหน. สืบค้นจาก https://eent.co.th/articles/026/
โดยทีมงาน Six Facets Press
14 Jun 2020
11 Jun 2020