Last updated: 20 Jul 2019 |
การเห็นโทษของความโกรธที่มีต่อตัวเรา ช่วยเราจัดการกับความโกรธได้
ความโกรธเป็นเรื่องธรรมชาติ ทางศาสนาพุทธเรียกว่า โทสะ ซึ่งเป็นกิเลสสำคัญที่สามารถสร้างความทุกข์ใจให้บุคคลได้มาก
เพราะความโกรธมีลักษณะทำลายล้าง ผลักออกไปข้างนอก ตรงข้ามกับความอยากที่ทำให้รู้สึกต้องการดึงเข้ามาหาตัว
ความโกรธทำให้ผู้รู้สึกโกรธต้องการทำลายสิ่งที่เป็นต้นตอของความโกรธให้อันตรธานหายไป ผู้คนสมัยนี้โกรธง่าย หัวร้อน ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้คนไม่ต้องรอ ทุกอย่างทำได้ด้วยปลายนิ้วสัมผัส เมื่อต้องรอ ได้ไม่ทันใจ หรือไม่ได้อย่างใจ จึงออกอาการได้อย่างรวดเร็ว
ในเชิงจิตวิทยา มีการวิเคราะห์สาเหตุของความโกรธได้ลึกซึ้งมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยการวิเคราะห์ประสบการณ์ในวัยเด็ก ซึ่งคงไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้ เพราะเป็นเรื่องยาวทีเดียว
อย่างไรก็ดี คำถามที่สำคัญคือก็ในเมื่อเราเป็นคนมีเหตุผล เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสมควรต้องตำหนิใครบางคนจริงๆ แล้วเราจะโกรธไม่ได้หรือ??
ความโกรธแม้เป็นความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติ แต่การแสดงและยึดความโกรธไว้ไม่ปล่อยวาง ไม่ได้เป็นการทำดีกับตัวเราเองเลย
มีคำกล่าวจากผู้กล่าวนิรนามว่า
แปลเป็นภาษาไทยว่า
“การยึดมั่นในความโกรธเหมือนการดื่มยาพิษ และคาดหวังว่าอีกฝ่ายจะตาย”
ไม่ว่าความโกรธจะเกิดจากอะไรก็ตาม มีเหตุผลสมควรให้โกรธอย่างไรก็ตาม ความโกรธก็เหมือนยาพิษที่ทำให้เราเป็นทุกข์ทางใจ ในขณะที่ร่างกายของเราก็หลั่งฮอร์โมนความเครียดออกมา มีผลเสียต่อระบบการทำงานของร่างกาย ของสมอง การหายใจ การย่อยอาหาร ภูมิคุ้มกัน ความดัน และสมาธิในการทำงาน ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงโรคทั้งหลายที่เกิดจากความเครียดสะสม รวมถึงมะเร็ง
โลกนี้แปลกอยู่อย่างหนึ่ง โลกมักอนุญาตให้เราทำหลายๆ อย่าง (ที่ไม่เป็นประโยชน์กับตัวเอง) ตามอำเภอใจ แล้วค่อยเอาคืนในภายหลัง เช่น ยึดมั่นความโกรธไว้ไม่ให้อภัย ระบายอารมณ์ความโกรธด้วยวิธีต่างๆ อาทิ เหวี่ยง วีน แสดงการต่อต้านอย่างรุนแรง เป็นต้น
สิ่งที่น่ากลัว คือ มันจะกลายเป็นนิสัย เมื่อเป็นนิสัยแล้ว ก็จะไม่รู้ตัวเมื่อทำเช่นนั้น และจากที่เคยทำกับคนบางคน ก็กลายเป็นทำกับคนทั่วไป นิสัยที่สร้างขึ้นแล้วเป็นสิ่งที่แก้ได้ยากมากขึ้น สร้างความเสียหายกับชีวิตได้มากขึ้น
ดังนั้น ผู้ที่โกรธง่ายควรใคร่ครวญเกี่ยวกับโทษของความโกรธ ควรตั้งสติ เมื่อมีเหตุให้ต้องโกรธ มีสติรู้ตัวว่ากำลังโกรธ แล้วรักษามือและรักษาปากไว้ให้มั่นคง (ป้องกันไม่ให้การกระทำหรือคำพูดไม่ดีหลุดออกไป) คิดถึงวิธีการแก้ไขเหตุการณ์ แทนที่จะมุ่งไปเพ่งโทษกับผู้ที่ทำให้โกรธ สิ่งใดที่ควรทำ ก็ทำด้วยเหตุผล ไม่ใช่ทำเพราะความโกรธ
ทำนองว่า เมื่อไฟไหม้ ให้ตั้งสติหาวิธีดับไฟก่อน ยังไม่ต้องกล่าวโทษคนทำไฟไหม้ เพราะไม่เช่นนั้น ความเสียหายอาจมากกว่าเดิม
การจัดการกับความโกรธนั้นจึงเริ่มจากการรักตัวเอง ไม่ต้องการให้ตัวเองทุกข์จากความโกรธ เริ่มจากความเข้าใจว่าความโกรธไร้ประโยชน์และให้โทษต่อตัวเราเองอย่างไร หมายความว่า เราต้องเห็นทุกข์เห็นโทษของความโกรธเสียก่อน ซึ่งเมื่อหมั่นพิจารณาในเรื่องนี้ ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการฝึกฝนควบคุมความโกรธให้ได้มากขึ้นต่อไป ☺
โดยทีมงาน Six Facets Press
16 Feb 2019
21 Jul 2019
11 Jun 2020