ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของซิกมันด์ ฟรอยด์ บิดาแห่งจิตวิเคราะห์

Last updated: 19 Jul 2019  | 

ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของซิกมันด์ ฟรอยด์ บิดาแห่งจิตวิเคราะห์

Mindful Way of Life

        ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) เป็นประสาทแพทย์ชาวออสเตรีย และบิดาแห่งทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis หรือ Psychoanalytic theory) ซึ่งเป็นพื้นฐานของวิธีการรักษาโรคทางจิตผ่านการพูดคุยระหว่างคนไข้กับจิตแพทย์ผู้ทำการวิเคราะห์

        ฟรอยด์ไม่เชื่อว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ตัดสินใจอย่างมีเหตุผลและเป็นผู้กำหนดชีวิตของตนเอง เนื่องจากประสบการณ์ส่วนใหญ่ของชีวิต อารมณ์ ความเชื่อ ความรู้สึก และแรงขับที่เป็นรากฐานของประสบการณ์ถูกเก็บไว้ภายในจิตไร้สำนึกที่ซึ่งจิตที่รู้ตัวหรือจิตสำนึกไม่สามารถเข้าถึงได้ แต่ส่วนที่ควบคุมไม่ได้นี้กลับมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและบุคลิกภาพของมนุษย์อย่างมากที่สุด ในขณะที่จิตสำนึกที่มนุษย์เข้าถึงได้ถือเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยของภาพรวมของจิตของบุคคลเท่านั้น โดยมีคำกล่าวว่า เมื่อเราตัดสินใจเลือกกระทำบางอย่างด้วยตัวเอง จริงๆ แล้วจิตไร้สำนึกได้ตัดสินใจให้เราไปก่อนหน้านั้นแล้วประมาณ 2-3 วินาที ไม่ใช่เราผู้รู้ตัวที่เป็นผู้ตัดสินใจ

        ฟรอยด์แบ่งการทำงานของจิตของมนุษย์ออกเป็น 3 ระดับ กล่าวคือ

        1.    จิตสำนึก (Conscious)

        เป็นส่วนที่รับรู้ความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมของตนเอง ใช้เหตุผล ทำงานประสานกับประสาทสัมผัสทั้งห้า และเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยของสิ่งที่ประกอบขึ้นเป็นบุคคล

        2.    จิตก่อนสำนึก จิตกึ่งสำนึก หรือจิตใต้สำนึก (Pre-conscious หรือ Sub-conscious)

        เป็นส่วนของจิตที่อยู่ภายใต้พื้นผิวของจิตสำนึกโดยตรง ซึ่งความรู้และประสบการณ์บางอย่างถูกเก็บกดหรือฝังไว้ ทำให้ไม่ปรากฏให้เห็นในจิตสำนึก แต่หากมีแรงกระตุ้นหรือมีการสืบค้น ก็สามารถดึงกลับมายังจิตสำนึกได้

        3.    จิตไร้สำนึก (Unconscious)

        เป็นส่วนที่ใหญ่ที่สุดของภาพรวมของจิตของบุคคล แต่มีอิทธิพลกับพฤติกรรมและบุคลิกภาพอย่างสูงสุด เป็นที่เก็บความต้องการตามสัญชาติญาณ ความรู้สึกหรือประสบการณ์ที่ถูกเก็บกดไว้ หากความปรารถนาที่เก็บกดไว้ในจิตไร้สำนึกไม่บรรลุผล อาจมีการแสดงออกในระดับจิตสำนึกในรูปของความฝัน (dreams) การพลั้งหลุดคำพูด (parapraxes) อาการกลัว (phobias) หรือการเพ้อฝันหรือสร้างวิมานในอากาศ (fantasy)

        จึงมีการเปรียบเทียบภูมิลักษณ์ของจิตว่าเป็นเหมือนภูเขาน้ำแข็งที่มีส่วนที่รับรู้ได้เหนือน้ำเพียงเล็กน้อย ในขณะที่ส่วนใหญ่ถูกฝังไว้อยู่ใต้ผิวน้ำ


ภาพระดับการทำงานของจิต (Concious, Pre-concious, and Unconcious)
 
ขอบคุณภาพโดย: By historicair - Structural-Iceberg.png by Jordangordanier, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=1467156

        ในส่วนของการพัฒนาบุคลิกภาพ ฟรอยด์ได้แบ่งโครงสร้างของจิต (Structural/Topographical Model of the Mind) ออกเป็น 3 องค์ประกอบดังนี้

        1.    Id

        เราถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับ Id ซึ่งทำงานในจิตไร้สำนึก Id เรียกร้องให้ตอบสนองความต้องการพื้นฐานตามสัญชาติญาณ ตามหลักแห่งความพึงพอใจ (Pleasure principle) เราสามารถเปรียบเทียบ Id กับทารกแรกเกิดที่ร้องเมื่อหิว หรือต้องการเปลี่ยนผ้าอ้อม โดยเรียกร้องการตอบสนองในทันทีหรือจนกว่าจะได้รับการตอบสนอง โดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริงของสถานการณ์ หรือหลักแห่งความเป็นจริง (Reality principle) ว่า พ่อแม่หรือผู้ดูแลสะดวกอยู่หรือไม่ เป็นเวลานอน เวลาทานข้าวของพ่อแม่หรือไม่

        2.    Ego

        ที่อายุประมาณ 3 ขวบ เมื่อเด็กได้มีการปฏิสัมพันธ์กับโลกมากขึ้น องค์ประกอบของจิตที่เรียกว่า Ego ก็ถูกพัฒนาขึ้นโดยทำงานตามหลักแห่งความเป็นจริง มีการใช้เหตุผล เข้าใจว่าผู้อื่นก็มีความต้องการเช่นกัน การเรียกร้องมากเกินไปก็อาจเป็นผลเสียในระยะยาวได้ หน้าที่ของ Ego ก็คือการตอบสนองความต้องการของ Id ในขณะที่คำนึงถึงความเป็นจริงของสถานการณ์ Ego อยู่ตรงกลางระหว่าง Id กับ Superego เปรียบได้กับสนามรบระหว่าง Id กับ Superego

        3.    Superego

        เมื่ออายุครบประมาณ 5 ขวบ องค์ประกอบของจิตที่เรียกว่า Superego ก็ได้พัฒนาขึ้นจากการเรียนรู้มาตรฐานและข้อจำกัดทางศีลธรรมจริยธรรมที่พ่อแม่หรือผู้ดูแลสอนให้ Superego เชื่อมโยงกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดี (Conscience) เช่น ใครแกล้งเพื่อนเป็นเด็กไม่ดี หรือการปฏิบัติที่สร้างการยอมรับ (Ego ideal) ซึ่งมักเป็นการเสริมแรงเชิงบวก เช่น ได้รับคำชมเพราะเป็นเด็กดี เป็นต้น

 
ภาพโครงสร้างของจิต (Structural/Topographical Model of the Mind)


         การพัฒนาของ Ego ในระดับจิตสำนึกสำคัญมาก บุคคลที่มีสุขภาพจิตที่ดีจะมี Ego เป็นส่วนที่เข้มแข็งที่สุด ซึ่งสามารถสร้างสมดุลระหว่าง Id กับ Superego โดยตอบสนองความต้องการของ Id ในขณะที่ไม่กระทบต่อมาตรฐานของ Superego และคำนึงถึงหลักแห่งความเป็นจริงของสถานการณ์ ในทางตรงข้ามหาก Id เข้มแข็งที่สุด บุคคลก็จะตกเป็นทาสของแรงขับให้ตอบสนองความต้องการตามสัญชาติญาณ ในขณะที่เมื่อ Superego แข็งแกร่งที่สุด จะทำให้บุคคลกลายผู้คุมกฎทางศีลธรรมจริยธรรม ชอบตัดสินผู้อื่น ขาดความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิต

        สาขาวิชาการแพทย์และจิตวิทยาได้พัฒนาไปอย่างมากในปัจจุบัน และจิตวิทยาแนวปัจจุบันก็ไม่ได้ยอมรับแนวคิดของฟรอยด์ไปทั้งหมด ถึงกระนั้นก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ฟรอยด์มีอิทธิพลอย่างสูงและก่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดความรู้ไปในหลากหลายสาขาวิชาการที่เกี่ยวข้องมาจนถึงปัจจุบัน

        ในโอกาสต่อไปจะได้นำเสนอการนำทฤษฎีของฟรอยด์ต่อยอดไปสู่ ‘Ego psychology’ โดยอันนา ฟรอยด์ นักจิตวิเคราะห์ที่มีชื่อเสียง ซึ่งเป็นบุตรีคนสุดท้องของฟรอยด์ ผู้ศึกษาพัฒนาการของอีโก้หรือจิตสำนึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่าง Id และ Superego ทำให้เกิดความทุกข์ ความกลัว ความเจ็บปวด หรือความรู้สึกผิดในระดับ Ego นำไปสู่พฤติกรรมการใช้กลไกในการป้องกันตัวแบบต่างๆ (Defense Mechanisms)

 

รายการอ้างอิง

Stangroom, J. (2018). Psychology: 50 Ideas in 500 words (Rev. ed.). London: Elwin Street Productions Limited.

Sigmund Freud. Retrieved from https://en.wikipedia.org/wiki/Sigmund_Freud

Freud’s Structural and Topographical Models of Personality. Retrieved from http://allpsych.com/psychology101/ego/

ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์. สืบค้นจาก https://www.dek-d.com/board/view/1402616/

Psychodynamic Theories ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์. สืบค้นจาก https://sites.google.com/site/wingsswagger/3-thvsdi-thangkar-phyabal-sukhphaph-cit/3-1-thvsdi-cit-wikheraah-samphanthphaph-rahwang-bukhkhl-laea-cit-sangkhm

จิตวิทยาสำหรับครู. สืบค้นจาก http://405404027.blogspot.com/2012/10/blog-post_1697.html

By historicair - Structural-Iceberg.png by Jordangordanier, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=1467156


โดยทีมงาน Six Facets Press

Powered by MakeWebEasy.com
This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy